โรงเรียนเป็นองค์กรทางการศึกษาที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน แนวคิดการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนจึงเป็นความสำคัญสูงสุดในการปฏิบัติงานของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นชนบทซึ่งนักเรียน ส่วนใหญ่มักด้อยโอกาสในการได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม จากการรายงานของธนาคารโลก พบว่า ผลการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งในการขยายโอกาสทางการศึกษา ขณะที่คุณภาพของการจัดการศึกษามีแนวโน้มลดลง โดยมีโรงเรียนเฉพาะที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้นที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเทียบเคียงได้กับค่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศสหรัฐอเมริกา (The World Bank, ๒๐๐๙) แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ที่อยู่ในเขตชนบทยังด้อยคุณภาพ ทั้งผลการวิจัยยังพบว่า การทุ่มเททำงานจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพเพื่อพัฒนาเด็กด้อยโอกาสในท้องถิ่นชนบทจะส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (economic returns) ของประเทศอย่างยิ่ง ทั้งยังลดปัญหาสังคม และส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรโดยรวม (Newsweek, ๒๐๐๙:Aug ๑.)
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานตระหนักในความสำคัญดังกล่าว จึงกำหนดนโยบายการพัฒนา “โรงเรียนคุณภาพ” ในท้องถิ่นชนบทเพื่อให้มีความเพียบพร้อมที่จะเป็นต้นแบบ หรือศูนย์สาธิตการให้บริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ตลอดจนเป็นศูนย์รวม หรือเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน ทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมและเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ เชื่อมั่นและศรัทธาในการปฏิบัติงานของโรงเรียนและไม่จำเป็นต้องส่งบุตรหลานไปเรียนในเมือง นำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยโรงเรียนและชุมชนสามารถจัดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์บริการและเชื่อมความสัมพันธ์กับชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นชนบทให้เป็น “โรงเรียนคุณภาพ” มีความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งทางด้านวิชาการ อาชีพ และการพัฒนาสุขภาพอนามัย สามารถให้บริการการศึกษาแก่นักเรียนอย่างมีคุณภาพ เป็นศูนย์พัฒนาครูสำหรับโรงเรียนต่าง ๆที่อยู่ใกล้เคียง และมีกิจกรรมบริการชุมชน
- เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับนักเรียนในท้องถิ่นชนบท
- เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมจากชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นำไปสู่ความเข้มแข็งของโรงเรียนและรองรับการกระจายอำนาจ